Monday, October 30, 2006

ประวัติวันฮัลโลวีน


ประเพณีนี้ได้รับการสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน นับว่าเป็นวันสำคัญอันหนึ่งของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล แห่งราชบัณฑิตสถานได้จัดทำคำอธิบายถึงประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของ "ฮัลโลวีน" ไว้ดังนี้
ในคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก Halloween เป็นคำภาษาอังกฤษ เพี้ยนมาจากคำ All Hallows Eve ซึ่งแปลว่าวันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย โดยวิธีตัดต่อ Hallow + Eve = Halloween
คำ Hallow เป็นคำแองโกลแซกซัน แปลว่าคำให้ศักดิ์สิทธิ์ ตรงกับภาษาเยอรมันว่า heiligen ในปัจจุบันนิยมใช้คำมาจากภาษาละตินว่า sanctify คำ Hallow ยังมีใช้ในบทสวดอธิษฐานเก่าๆ เช่น Hallowed be thy Name (ขอพระนามจงเป็นที่สักการะ)
คำ Hallow ยังแปลว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญ คำ All Hallowmas จึงแปลว่า วันสมโภชนักบุญทั้งหลายในปัจจุบันใช้คำว่า All Saints Day คู่กับ Christmas ซึ่งแปลว่า วันสมโภชพระคริสต์หรือคริสต์มาสนั่นเอง
วันก่อนวันสมโภชคริสต์มาสมี Chrismas Eve ที่นิยมเรียกว่า คืน (ก่อน) คริสต์มาส วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลายก็มี All Hallowmas Eve ซึ่งต่อมาย่อเป็น Halloween โดยมีงานรื่นเริงและพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับคืนคริสต์มาส ชาวคาทอลิกพร้อมใจกันเลื่อนพิธีกรรมทางศาสนาไปหลังวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และเรียกว่า วันวิญญาณในแดนชำระ (All Souls Day) เพื่อให้คู่กับวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints Day)
ประวัติความเป็นมาอีกฉบับหนึ่ง ให้คำอธิบายถึงที่มาที่ไปของวันนี้ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว เป็นความเชื่อของชาวเซ็ลต์ (Celt) เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศอังกฤษ โดยเชื่อว่าทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี จะเป็นวันที่ประตูนรกถูกเปิดขึ้นมา บรรจบกับมิติโลกมนุษย์กันอย่างพอดี ทำให้เหล่าวิญญาณพยายามหาทางเข้าสิงมนุษย์
ซึ่งวิธีการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณเข้าสิงคือ "การปลอมตัว" ทำตัวเป็นผีเสียเอง ด้วยการตกแต่งต่างๆ นานาให้ดูน่ากลัวที่สุด เทียนและระบบทำความร้อนก็จะถูกดับ เพื่อให้ร่างกายเกิดความหนาวเย็นเปรียบเสมือนร่างกายที่ไร้ซึ่งชีวิต ส่วนบ้านเรือนจะถูกตกแต่งให้ดูน่าสะพรึงกลัว และผู้คนต่างส่งเสียงเพื่อทำการขับไล่เหล่าวิญญาณชั่วร้ายอีกทีนึง ทั้งนี้ หลายคนต่างสงสัยว่าทำไมสัญลักษณ์ของวันฮัลโลวีน ถึงเป็นหัวฟักทองแกะสลักสีส้ม
เจ้าฟักทองนั้นมีชื่อว่า Jack O Lanterns เป็นตำนานของชาวไอริช ที่เป็นนักมายากลขี้เมาและได้ทำข้อตกลงกับปีศาจตนหนึ่ง ในกรณีที่เขาเสียชีวิตแล้ว เขาขอเพียงแค่ไม่ไปทั้งสวรรค์หรือนรก เมื่อถึงคราวชีพจรดับปีศาจตนนั้นจึงมอบถ่านอันคุกรุ่นให้แก่ Jack เขาจึงนำไปใส่ไว้ในหัวผักกาดเพื่อคอยปัดเป่าความหนาวเย็น ต่อมาชาวไอรีชจึงแกะหัวผักกาด และนำถ่านมาใส่เช่นกันเพื่อเป็นสิริมงคลในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตลอดทั้งปี
เมื่อกาลเวลาผ่านไปประเพณีดังกล่าวเริ่มแพร่หลายไปสู่ประเทศอเมริกา แต่หัวผักกาดเป็นสิ่งที่หายาก จึงนำลูกฟักทองมาแกะสลักแทน และนี่คือจุดเริ่มต้นของสัญลักษณ์สีส้ม และสีดำ ทั้งนี้ สีดำบ่งบอกถึงความมืดมิดช่วงเวลากลางคืน ส่วนสีส้มคือแสงสว่างที่ลุกโชติ เพื่อขับไล่ปีศาจนั่นเอง
ส่วนบรรยากาศเทศกาลฮัลโลวีนในประเทศไทยนั้น ก็ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง กล่าวคือกลุ่มวัยรุ่นและชาวต่างชาติที่อาศัยใจกลางกรุงเทพมหานคร ส่วนบาร์ ผับ จะเต็มแออัดไปด้วยผู้คนแต่งตัวแฟนซี ถ้าถามว่าพอรู้จักความเป็นมากันบ้างไหม ก็อาจมีน้อยเพราะในปัจจุบันเทศกาลนี้เป็นเพียงแค่กระแสเท่านั้นเอง
จะว่าไปแล้ว คืนวันปล่อยผีของฝรั่งเขาก็ยังถือว่าน้อย แต่บ้านเรานี่นะครับวันพระมีเยอะ ไม่รู้ตั้งกี่รอบในหนึ่งเดือน เรียกว่าปล่อยผีกันจนชิน ไหนๆ พูดเรื่องผีๆ กันแล้วชาวบ้านชาวนา เขาไม่รู้จักแฟรงค์เก็นสไตน์ และแดร็กคิวลาหรอกครับ แต่ถ้าเป็นพวก ปอบ กระสือ แม่นาคพระโขนงหรือ เปรตวัดสุทัศน์ ก็ยังพอไหว ความจริงแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าพอสมควรเมื่อคนสังคมยุคปัจจุบัน ต่างให้ความสำคัญต่อประวัติเทศกาลและประเพณีน้อยลง ซึ่งความสวยงามทางเทศกาลกลับถูกพัฒนาให้กลายพันธุ์ไปสู่ความสนุกสนานและความบันเทิงเสียมากกว่า เป็นปรากฏการณ์ที่คนในสังคมยุคใหม่มองว่าเป็นโอกาสในการรวมกลุ่มสังสรรค์